การประยุกต์หลักพุทธธรรมในการพัฒนาชุมชนวิถีพุทธตามโครงการหมู่บ้านบวร อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย

  • พระใบฎีกานพดล ธีรปญฺโญ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่
  • พรหมเรศ แก้วโมลา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่
  • พระครูสุนทรธรรมนิทัศน์ . มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่
คำสำคัญ: หลักพุทธธรรม, ชุมชนวิถีพุทธ, โครงการหมู่บ้านบวร

บทคัดย่อ

การศึกษาวิจัยเรื่อง “การประยุกต์ใช้หลักพุทธธรรมในการพัฒนาชุมชนวิถีพุทธตามโครงการหมู่บ้านบวร อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย” มีวัตถุประสงค์ 1. เพื่อศึกษาบริบทชุมชนวิถีพุทธตามโครงการหมู่บ้านบวร อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย 2. เพื่อศึกษาหลักพุทธธรรมในการพัฒนาชุมชนที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท 3. เพื่อเสนอแนวทางการประยุกต์ใช้หลักพุทธธรรมในการพัฒนาชุมชนวิถีพุทธ ตามโครงการหมู่บ้านบวร อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัยการศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากพระไตรปิฎก อรรถกถา เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องรวมทั้งการสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้หลักพุทธธรรมในการพัฒนาชุมชนวิถีพุทธตามโครงการหมู่บ้านบวร อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย จำนวน 15 รูป/คน ผลการวิจัยพบว่า

  1. บริบทชุมชนวิถีพุทธตามโครงการหมู่บ้านบวร อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย พบว่า มีคณะสงฆ์อำเภอศรีสัชนาลัย ร่วมกับสำนักวัฒนธรรมจังหวัดสุโขทัย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 38 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุโขทัย เขต 2 องค์กรปกครองส่วนถิ่น ผู้นำชุมชนและประชาชนในพี้นที่ร่วมกันขับเคลื่อนโดยมีรากฐานทางด้านศาสนาศิลปวัฒนธรรมเป็นวิถีปฏิบัติในชีวิตประจำวัน และมีการดำเนินกิจกรรมตามนโยบายที่ทางคณะสงฆ์ ส่วนราชการและประชาชนอย่างสม่ำเสมอ
  2. หลักพุทธธรรมในการพัฒนาชุมชนที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท พบว่า บ้าน (ผู้นำชุมชนและประชาชน) วัด (พระสงฆ์) โรงเรียน (ครูและนักเรียน) นำมาบูรณาการ ได้แก่ หลักสังคหวัตถุ 4 คือ 1) ทาน มีการแบ่งปันด้วยปัจจัย 4 และธรรมทานซึ่งกันและกันภายในชุมชนอย่างเหมาะสมในยามปกติและในยามประสบภัยต่าง ๆ 2) ปิยวาจา มีการสื่อสารกันด้วยถ้อยคำที่สุภาพและเป็นกันเองระหว่างสมาชิกในชุมชน 3) อัตถจริยา มีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันระหว่างเครือญาติและคนในชุมชนด้วยจิตอาสา 4) สมานัตตตา มีการประพฤติปฏิบัติกิจกรรมทางด้านศาสนา ศิลปวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตประจำวัน
  3. แนวทางการประยุกต์ใช้หลักพุทธธรรมในการพัฒนาชุมชนวิถีพุทธ ตามโครงการหมู่บ้านบวร อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย พบว่า มี 3 ลักษณะ ได้แก่ 1. ส่วนบุคคล สำหรับพระสงฆ์ ผู้นำชุมชน ประชาชน ครู นักเรียน 1) ใช้ในกิจวัตรประจำวันซึ่งได้รับการปลูกฝังตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน 2) ได้รับองค์ความรู้จากคนในครอบครัว โรงเรียนและพระสงฆ์เป็นผู้ถ่ายทอด 3) ได้เข้าร่วมกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาในชุมชนและสังคมอย่างสม่ำเสมอ 2. ส่วนงาน ได้แก่ บ้าน วัด โรงเรียน 1) ผู้นำ และประชาชนถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกันในการอยู่ร่วมกันในสังคม 2) พระสงฆ์ทำหน้าที่เป็นผู้นำจิตใจด้วยการประพฤติตนเป็นแบบอย่างและอบรมจิตใจพุทธศาสนิกชน 3) ครูบาอาจารย์ทำหน้าที่อบรมกุลบุตรกุลธิดาให้มีความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม 3. ส่วนรวม (นโยบาย) คือ ระดับจังหวัดถึงประเทศ 1) สนับสนุนและส่งเสริมงบประมาณ บุคลากรและสื่อที่ช่วยขับเคลื่อนพันธกิจ บวร อย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง 2) สร้างเครือข่าย บวร ในระดับจังหวัด ภูมิภาคและประเทศ 3) มีการวัดและประเมินผลการปฏิบัติงานและนำไปพัฒนา บวร อย่างชัดเจน

บรรณานุกรม

พระครูประกาศศาสนกิจ (ณกร ถิ่นสำราญ). (2557). การประยุกต์ใช้หลักพุทธธรรมในการพัฒนาชุมชนของ
พระสงฆ์ในเขตตำบลวังดิน อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์. วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชาพระพุทธศาสนา บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
พระไพศาล วิสาโล. (2529). อำนาจและยุทธวิธีไร้ความรุนแรง. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,.
พินิจ ลาภธนานนท์. (2532). บทบาทพระสงฆ์ในการพัฒนาชนบท. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร.
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต). (2561). พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม. พิมพ์ครั้งที่ 40. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ผลิธัมม์ ในเครือบริษัท สำนักพิมพ์เพ็ทแอนด์โฮม จำกัด.
เผยแพร่แล้ว
2022-02-11